องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น


องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
“กว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจะมาถึงวันนี้ได้ สมาชิกสภาจังหวัดและข้าราชการส่วนจังหวัดในอดีตได้ร่วมกันต่อสู้ เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีผู้บริหารที่มาจากตัวแทนของประชาชน  และให้มีข้าราชการส่วนจังหวัดเข้ามาปฏิบัติงานในหน้าที่ต่างๆ  โดยตรง การต่อสู้ที่ว่านั้นได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 จนกระทั่งมาถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จึงประสบผลสำเร็จ”

กำเนิดสภาจังหวัด
          เมื่อปี  พ.ศ. 2481 รัฐบาลสมัยนั้นได้ออกพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้นซึ่งกำหนดให้มี  “สภาจังหวัด” เป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาได้ออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ.ศ.2482 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด โดยกำหนดจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดตามจำนวนประชากรของจังหวัดนั้น ๆ เป็นหลัก เช่น ประชากร  200,000 คน เลือกสมาชิกได้ 18 คน เกิน 200,000-500,000 คน เลือกได้ 24 คน เกิน 500,000-1,000,000 คน เลือกได้ 30 คน เกิน 1,000,000 คน  เลือกได้ 36 คน  ในอำเภอหนึ่งให้มีสมาชิกสภาจังหวัดได้หนึ่งคน เมื่อรวมจำนวนสมาชิกตามเกณฑ์ที่ว่าข้างต้นยังไม่ครบจำนวน    ก็ให้เอาจำนวนสมาชิกที่จังหวัดจะพึงมีได้ไปหารจำนวนประชากรทั้งจังหวัดได้ผลลัพธ์เท่าใดให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับจำนวนสมาชิกเพิ่ม   โดยอำเภอใดมีจำนวนประชากรมากที่สุดให้อำเภอนั้นมีสมาชิกสภาจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน   แล้วให้เอาผลลัพธ์ดังกล่าวหักจำนวน ประชากรของอำเภอนั้น  เหลือเท่าใดให้ถือเป็นจำนวนราษฎรของอำเภอนั้น ในการพิจารณาขอเพิ่มสมาชิกที่ยังขาดอยู่ ให้กระทำดังนี้ต่อ ๆ ไปจนได้สมาชิกครบจำนวน
           ในปี พ.ศ. 2482     จังหวัดขอนแก่นเรามีสมาชิกสภาจังหวัดได้จำนวน 24 คน ครั้นต่อมามีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนสมาชิกสภาจังหวัดก็เพิ่มขึ้นจากจำนวน 24 คน  เป็นจำนวน 30 คน และ 36 คน ในที่สุด
           สภาจังหวัดที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 นั้น เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด    ขาดอำนาจหน้าที่       และกำลังเงินที่จะทำนุบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ในปีหนึ่งๆ  ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเรียกประชุมเพียงหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง       สมาชิกสภาจังหวัดทำหน้าที่เพียงเสนอความต้องการ ความขาดแคลน ความเดือนร้อนของประชาชนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ส่วนผู้ว่าราช-การจังหวัดจะนำไปแก้ไขหรือไม่ สมาชิกไม่สามารถจะตรวจสอบได้
กำเนิดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
           ในช่วงปี พ.ศ. 2497 จอมพล ป.พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศต่างๆ  ในทวีปยุโรป  อาทิ  ฝรั่งเศส และอังกฤษ  ซึ่งเป็นประเทศแม่แบบระบอบประชาธิปไตยได้ไปเห็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นของเขา โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด  จึงได้นำหลักการดังกล่าวมาปรับปรุงสภาจังหวัดให้มีอำนาจหารายได้และมีอิสระที่จะดำเนินการกิจการบางประการเองได้  โดยในปี พ.ศ. 2498  รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ตราพระราช-บัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 ขึ้น โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า โดยที่พระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 และที่แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2485 และพ.ศ.2487     ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้สภาจังหวัดเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขาดอำนาจหน้าที่และกำลังเงินที่จะทำนุบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดนั้น
           หลักการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 มีสาระสำคัญดังนี้.-
          (1)  “จังหวัด” กฎหมายฉบับนี้ให้คำนิยามไว้ว่า  คือ  “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” และเป็นนิติบุคคล มีสมาชิกสภาจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินกิจการส่วนจังหวัด  ซึ่งเป็นการรับรองฐานะของจังหวัดอีกฐานะหนึ่งว่าเป็นหน่วยปกครองแยกออกไปจากระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด คือกิจการที่แยกเป็นส่วนต่างหากจากราชการแผ่นดินส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
          (2)  “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมี 2 ฐานะ  คือ  เป็นตัวแทนราชการส่วนกลางในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ในราชการส่วนภูมิภาค ทั้งเป็นหัวหน้าผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการพลเรือนของกระทรวง  ทบวง  กรมต่าง ๆ   ซึ่งประจำอยู่ที่จังหวัดด้วย  ส่วนฐานะที่สอง คือ เป็นตัวแทนของประชาชน  และเป็นผู้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด   (กิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด) ควบคู่ไปกับสภาจังหวัด
          (3)  “สภาจังหวัด” เป็นองค์การผู้แทนประชาชน เป็นฝ่ายที่จะร่วมดำเนินกิจการส่วนจังหวัด ควบคุม  ดูแลการปฏิบัติของฝ่ายผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นผู้อนุมัติให้ความเห็นชอบในข้อบัญญัติจังหวัด และงบประมาณรายจ่ายรายได้ของจังหวัด
          (4)  “กิจการส่วนจังหวัด” ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการท้องถิ่นหลายประการ   ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ถึง  20  ข้อ     มีทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อย การศึกษา การบำรุงศาสนา การสาธารณูปการ การป้องกันรักษาโรค การกำจัดขยะมูลฝอย  และสิ่งปฏิกูล การจัดให้มีน้ำสะอาด การทำมาหากินของราษฎร เป็นต้น
          (5)   “ข้าราชการส่วนจังหวัด”   เมื่อกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นองค์การปกครองท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือปฏิบัติกิจการส่วนจังหวัด โดยกำหนดให้ผู้ว่า-ราชการจังหวัดที่ช่วยเหลือปฏิบัติกิจการส่วนจังหวัด        โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง  อัตราเงินเดือน  การเลื่อนขั้น  เลื่อนระดับตลอดจนการบริหารบุคคลต่าง ๆ   แต่ในระยะเริ่มต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่มีรายได้เพียงพอ หากนำรายได้ที่มีอยู่มาเป็นเงินเดือนข้าราชการส่วน-จังหวัดก็จะไม่มีเงินไปทำนุบำรุงท้องถิ่น กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะการว่าถ้ายังมิได้กำหนดชั้นและตำแหน่งใดเป็นข้าราชการส่วนจังหวัด ให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ  กิจการนั้นดำเนินกิจการไปพลางก่อน และถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ว่าราชการจังหวัดจะให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบก็ได้
           คณะกรรมการข้าราชการส่วนจังหวัด (ก.จ.) เป็นผู้มีอำนาจออกกฎ ก.จ. เพื่อให้มีตำแหน่ง ข้าราชการส่วนจังหวัดต่าง ๆ  แต่ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ได้กำหนดตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้แล้ว   แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราเงินเดือน  ซึ่งเป็นอำนาจ ก.จ. ที่จะกำหนดเลขที่ตำแหน่ง  ชั้นระดับ   อัตราเงินเดือน  คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้ามาบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากในระยะแรกยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ  ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงแต่งตั้งปลัดจังหวัด เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด    ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น   เป็นเลขานุการจังหวัด  เสมียนตราจังหวัด  เป็นหัวหน้าส่วนการคลัง
ข้าราชการส่วนจังหวัดขอนแก่น
          นับตั้งแต่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด  พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา   ยังไม่มีข้าราชการส่วนจังหวัดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยตรง จนกระทั่งปี  พ.ศ.  2509 คณะกรรมการข้าราชการส่วนจังหวัด (ก.จ.) จึงได้กำหนดอัตราตำแหน่งข้าราชการส่วนจังหวัดขึ้นซึ่งได้แก่  อัตราเลขที่ 1 ตำแหน่ง  ผู้ช่วยเลขานุการจังหวัด  ชั้นตรี  อันดับ 1  ขั้น 1,000.- บาท ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น    ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขานุการจังหวัดในขณะนั้น  คือ  ว่าที่ ร.ต.กวี  สุภธีระ ได้เสนอประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สมัยนั้น  คือ นายสมชาย  กลิ่นแก้ว เพื่อลงนาม มีผู้มาสมัครสอบ 2 คน ผู้ที่สอบได้ตามประกาศผลการสอบคัดเลือก ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2509  และได้บรรจุเป็นข้าราชการส่วนจังหวัดขอนแก่นคนแรก คือนายบุญมา ทวิภักดิ์  ตามคำสั่งจังหวัดขอนแก่นที่ 842/2509 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2509 ภายหลังก็มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนการคลัง เป็นตำแหน่งเลขที่  2 ผู้ได้รับ การบรรจุเป็นคนแรก คือ นายยงยุทธ  อุราสุข  เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีการกำหนดตำแหน่งข้าราชการส่วนจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ธุรการ และพนักงานบัญชี   อัตราเหล่านี้จะมีอยู่ในสำนักงานเลขานุการจังหวัด  ส่วนการคลัง  และส่วนอำเภอ  ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2509 - 2515 องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นมีข้าราชการส่วนจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารเป็นอันมาก
สร้างบ้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด
          จากคำบอกเล่าของ นายบุญมา ทวิภักดิ์  เลขานุการจังหวัดขอนแก่น(คนแรก) เมื่อมีข้าราชการส่วนจังหวัดตำแหน่งต่างๆ เข้ามาปฏิบัติงานแล้ว  แนวคิดที่จะแยกตัดออกไปจากฝ่ายปกครองก็เริ่มขึ้นอย่างเงียบ ๆ โดยคิดเป็นเบื้องต้นว่าอันดับแรกควรมีบ้านเป็นของตนเองก่อน เพราะขณะนั้นอาศัยบ้านของคนอื่นอยู่ เมื่อ พ.ศ. 2513      สภาจังหวัดขอนแก่นได้อนุมัติงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารหอประชุมสภาจังหวัดขึ้นในที่ราชพัสดุ ด้านทิศตะวันออกของศาลากลางจังหวัด ตรงกับสมัยนายช่วย นนทะนาครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  อาคารหลังนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1.8 ล้านบาท  ครั้งแรกติดป้ายชื่อว่า  “หอประชุมสภาจังหวัดขอนแก่น” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น  “หอประชุมจังหวัดขอนแก่น” และเป็น “ศาลาประชาคมจังหวัดขอนแก่น”  ในที่สุด
           “อาคารหอประชุมสภาจังหวัดขอนแก่น”   มีการเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งนั้น เป็นเพราะมีการขัดแย้งทางความคิด โดยที่สภาจังหวัดขอนแก่น อนุมัติงบประมาณมาให้ก่อสร้างเป็นหอประชุมของสภาก็ควรจะใช้ชื่อว่า “หอประชุมสภาจังหวัดขอนแก่น” ครั้นต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัด  เห็นว่าถ้าใช้ชื่อเฉพาะเจาะจงเช่นนั้น  จะทำให้หน่วยงานอื่นหรือประชาชนมาใช้ลำบาก   จึงเปลี่ยนมาเป็น“หอประชุมจังหวัดขอนแก่น” เพื่อให้ทุกส่วนราชการ  องค์กรภาคเอกชนมาใช้ได้ ความคิดเรื่องนี้ยังตกค้างเรื่อยมา    จนในที่สุดผู้บริหารคนต่อมา  ปี  พ.ศ. 2516 จึงเสนองบประมาณให้ก่อสร้างหอประชุมสภาจังหวัดขึ้นใหม่    โดยสร้างที่ด้านหลัง  (ทิศเหนือ)  ของศาลากลางจังหวัดหลังเดิมซึ่งสถาปนิกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ออกแบบ มีลักษณะหลังคาสูง ห้องโถงโล่ง เห็นต้นเสาอยู่เต็ม จนคนทั่วไปเรียกว่า “โรงช้าง” สภาจังหวัดขอนแก่น สมัยนั้นใช้เป็นที่ประชุมไม่เกิน 2 ครั้ง  เพราะไม่สะดวกไม่เหมาะสมทั้งระบบเสียงและบรรยากาศ  จึงได้ย้ายไปประชุมที่หอประชุมหลังเดิม ซึ่งก็เกิดปัญหาในเรื่องระบบเสียงและบรรยากาศอีก   เพราะโดยรวมแล้วมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาขอใช้บริการ  เกิดความไม่เป็นสัดส่วน  ดังนั้น  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 สภาจังหวัดจึงได้อนุมัติงบประมาณให้ปรับปรุง  “โรงช้าง”  เป็นห้องประชุมสภาจังหวัดโดยเฉพาะ ณ ปัจจุบันห้องประชุมดังกล่าวได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว เพื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่
           เมื่อได้อาคารหอประชุมสภาจังหวัดขอนแก่นในปี พ.ศ. 2513 แล้ว ในปี พ.ศ. 2514 สภาจังหวัดขอนแก่นได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 1.4 ล้านบาท  เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการ “องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น”  สร้างในที่ราชพัสดุแปลงซึ่งมี สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทใช้อยู่ก่อน โดยมีนายบุรี พรหมลักขโณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ขณะนั้นเป็นประธานวางศิลาฤกษ์                             
          การมีอาคารหอประชุมสภาจังหวัด และอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด นับเป็นความก้าวหน้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น  และทำให้จังหวัดอื่น ๆ ดำเนินการก่อสร้างอาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากขึ้น บางจังหวัดได้ก่อสร้างอาคารใหญ่โต และสง่างามน่าชื่นชม และเมื่อได้สำนักงานก็มีการย้ายข้าราชการส่วนจังหวัดจากศาลากลางจังหวัด    ลงมาปฏิบัติงานที่ตึกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ซึ่งได้แก่  สำนักงานเลขานุการจังหวัด ประกอบด้วยผู้ช่วยเลขานุการจังหวัด  เจ้าหน้าที่ธุรการ  ลูกจ้าง  ส่วนการคลัง  มีผู้ช่วยหัวหน้าส่วนการลัง พนักงานบัญชี  ต่อมามีการขยายตัวมากขึ้นมีส่วนโยธา   ส่วนการศึกษา  จึงมีการต่อเติมอาคารหลังเดิมออกไปทางด้านหลัง (ทิศเหนือ)    เพราะไม่สามารถขยายไปด้านทิศตะวันออกได้ เนื่องจากติดอาคารสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท
โอนงานเร่งรัดพัฒนาชนบทให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด
           ตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กำหนดไว้หลายประการ แต่บางอย่างก็ไม่สามารถทำได้เพราะขาดงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นได้พยายามที่จะมีบทบาทเรื่องการก่อสร้างถนนหนทาง การขุดบ่อน้ำสระน้ำ ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อนในชนบทจะลำบากมากในการคมนาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจึงได้จัดซื้อเครื่องจักรกลหนัก เช่นรถแทรกเตอร์  รถเกรด  รถบรรทุกน้ำ เพื่อส่งไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่น โดยได้ตั้งอัตราลูกจ้างประจำ  และลูกจ้างชั่วคราว  เพื่อบรรจุเป็นพนักงานขับรถแทรกเตอร์   ขับรถเกรด  รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกชนิดเทยกขึ้นมาหลายอัตรา โดยในระยะแรกให้อยู่ในสังกัดสำนักงานเลขานุการจังหวัด
          ในการพัฒนาท้องถิ่นนั้น  รัฐบาลได้ตั้งสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทขึ้นมา  โดยในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท   สำนักงานนี้มีเครื่องจักรกลหนักในการก่อสร้างถนน   ขุดบ่อน้ำสระน้ำขุดลอกหนองน้ำ  ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้โอนงานเร่งรัดพัฒนาชนบทมาขึ้นกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด      โดยได้จัดสรรเป็นเงินอุดหนุนมาตั้งจ่ายในองค์การบริหารส่วนจังหวัด   ซึ่งเงินอุดหนุนนี้ก็จะมีตั้งแต่เงินเดือน  ค่าจ้าง  ค่าตอบแทน ค่าใช้สอยวัสดุ และค่าสิ่งก่อสร้าง
           เมื่อรับงานเร่งรัดพัฒนาชนบทมาปฏิบัติ     จึงมีการจัดตั้งส่วนการโยธาขึ้นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในส่วนนี้ก็คือลูกจ้างที่สังกัดสำนักงานเลขานุการจังหวัด และข้าราชการลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนจากเงินอุดหนุน ส่วนที่ได้รับงบประมาณจากส่วนกลางไม่ได้โอนมา และก็ยังมีสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทอยู่  ต่อมาเมื่อปี 2528 องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นได้รับอนุมัติให้สอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายช่างโยธา  ระดับ 2  และเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี  ระดับ 2 ประจำอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น    ในปีนี้ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท  ได้โอนไปอยู่ราชการส่วนภูมิภาค  องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
แนวคิดเรื่องนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
               ในช่วงปี  พ.ศ.  2515  แนวความคิดเรื่องความเป็นอิสระขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สะสมความคิดเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา โดยมีสภาจังหวัดขอนแก่นเป็นแกนนำ
                ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498   กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  ในการบริหารงานจึงเกิดปัญหา  และมีความขัดแย้งกับสภาจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดมี 2 ฐานะ คือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบงานราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค  และมีอำนาจกำกับดูแลราชการส่วนท้องถิ่นคือ เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย อีกฐานะหนึ่งก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด  สรุปก็คือเป็นทั้งผู้กำกับดูแล  เป็นทั้งผู้ทำงาน เมื่อแพ้คะแนนเสียงในสภาก็จะใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินมายับยั้งมติของสภาจังหวัดได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้สมาชิกสภาจังหวัดในสมัยนั้นคิดหาหนทางที่จะมีหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นของตนเอง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกสภาจังหวัดต่างๆ เพราะในปีหนึ่งๆ สภาจังหวัดขอนแก่นจะมีโอกาสต้อนรีบสมาชิกสภาจังหวัดที่มาเยือน และสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่นเองก็ยังได้เดินทางไปทัศนศึกษายังจังหวัดต่างๆอีกด้วย สมาชิกสภาจังหวัดส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า     สมควรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีหัวหน้าฝ่ายบริหารตัวจริงได้แล้ว   ส่วนชื่อของหัวหน้าฝ่ายบริหารนั้นมีการเสนอชื่อ   “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด”  บางท่านเสนอว่าควรเป็นผู้ว่าราชการเหมือนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
การประชุมสภาจังหวัดทั่วประเทศ
           ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า แนวคิดเรื่องความเป็นอิสระขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 และในช่วงปี พ.ศ. 2515 ความคิดเรื่องนี้ยิ่งเป็นรูปร่างมากขึ้น รวมถึงการโอนประถมศึกษาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้สมาชิกสภาจังหวัดคิดหารูปแบบ และวิธีการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอิสระจนมีหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นของตนเอง   สภาจังหวัดขอนแก่นกลายเป็นแกนนำในเรื่องนี้  เมื่อปี พ.ศ.2518 รัฐบาลของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช   มี ฯพณฯ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์   เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย   บรรยากาศแห่งประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน  สภาจังหวัดขอนแก่นโดย นายประมวญ  จันทนพิมพ์  ประธานสภาจังหวัด  รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาจังหวัดทั่วประเทศขึ้นที่โรงแรมโฆษะ  และได้เรียนเชิญ ฯพณฯ  บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ มาเป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวคำปราศัย  การประชุมครั้งนั้นมีสมาชิกสภาจังหวัดจากทั่วประเทศมาประชุมกันสองร้อยกว่าคน
           โดยก่อนการประชุมได้จัดทำแบบสอบถามไปยังสภาจังหวัดต่าง ๆ  ให้แสดงความคิดเห็นในหลักการสำคัญ เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม  บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดควรเป็นอย่างไร เมื่อได้รับความคิดเห็นมาแล้วก็สรุปประเด็นต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เนื่องจากมีการประชุมวันเดียวจึงหาวิธีการที่จะได้มติที่ประชุมเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
           เป็นที่น่าปลื้มใจ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยทางอ้อม คือ เมื่อเลือกสมาชิกสภาจังหวัดแล้ว    ก็ให้สมาชิกเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นจึงได้สรุปมติที่ประชุมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป
           รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนจังหวัด  ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา  วาระที่  1  ได้ลงมติเห็นชอบในหลักการ  จึงเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธิการ ช่วงนี้สมาชิกดีใจกันทั่วหน้า และหวังว่าเมื่อผ่านคณะกรรมาธิการ พิจารณาแปรญัตติเสร็จจะเข้าสู่สภา วาระที่ 2 และ 3 ประกาศใช้ต่อไป
         
           สาระสำคัญของพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498  มีดังนี้.-
          (1)  “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” กฎหมายฉบับใหม่นี้ กำหนดให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น
         (2)  “สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด” เมื่อกำหนดให้เป็นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นแล้วองค์กรตัวแทนประชาชนก็ได้ชื่อ  “สภาองค์การฯ”  เช่นเดียวกับสภาเทศบาล สภาเมืองพัทยา หรือ สภากรุงเทพมหานคร ส่วนเกณฑ์คำนวนสมาชิกสภาก็กำหนดขึ้นใหม่ ประชากรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิก 24 คน เกิน 500,000 แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกได้ 30 คน เกิน 1,000,000 แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกได้  36  คน  เกิน  1,500,000 แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกได้ 42 คน เกิน 2,000,000 ขึ้นไปให้มีสมาชิกได้ 48 คน
          (3) “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแทนผู้ว่าราชการจังหวัด สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  เลือกสมาชิกสภาองค์การคนหนึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
           (4) “กิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด” ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดแตกต่างจากเดิมมาก  ไม่ได้กำหนดภารกิจเฉพาะแบบเดิม  เช่น  ให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา  การทำนุบำรุงศาสนา การจัดให้มี และบำรุงทางระบายน้ำ  การกำจัดขยะมูลฝอย การจัดให้มีโรงฆ่าสัตว์ การจัดให้มีสุสาน และณาปนสถาน เป็นต้น การกำหนดภารกิจแบบเดิมจึงไม่ถูกต้อง  เพราะหน่วยการปกครองท้องถิ่นมีหลายรูปแบบในจังหวัดหนึ่ง ๆ มี เทศบาล สุขาภิบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกำหนดภารกิจจึงพยายามมิให้เกิดทับซ้อนกัน กฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 จึงกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้เป็นแนวกว้าง   เพราะเขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัด   คือ  เขตของจังหวัดในราชการส่วนภูมิภาค  เช่น  กำหนดว่าให้จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด   และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด  การสนับสนุนสภาตำบล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมดำเนินการ  หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          (5) “ข้าราชการส่วนจังหวัด” กำหนดให้มีข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นโดยตรงโดยไม่เรียกชื่อว่าข้าราชส่วนจังหวัดเหมือนเดิม        ส่วนตำแหน่งก็มีตั้งแต่ตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด  และหัวหน้าส่วนราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งได้แก่  ส่วนอำนวยการ  ส่วนการคลัง  ส่วนโยธา  ส่วนแผนและงบประมาณ  ส่วนกิจการสภาองค์การฯ เป็นต้น
           องค์กรกำกับดูแลการบริหารงานบุคคล แต่เดิมเรียกว่าคณะกรรมการข้าราชการส่วนจังหวัด(ก.จ.)   กรรมการประกอบด้วยข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด แต่ตามกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กำหนดให้มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสองคน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองไปเพิ่มกรรมการ และปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองระหว่างปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจังหวัดขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองหลัก ถือเป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525–2525) จึงมีความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมาเปรียบประดุจเป็นเมืองหลวงแห่งที่ราบสูงอีสานนี้
สภาพทั่วไปของจังหวัดขอนแก่น
1. สภาพทางภูมิศาสตร์
   1.1 ที่ตั้ง

         จังหวัดขอนแก่นตั้งอยู่ที่ราบสูงโคราชอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 41 00“ - 17 04 00 “ เหนือ และเส้นแวงที่ 101 45 00 “ - 103 11 00 “ ตะวันออกอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 100 - 200 เมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ445 กม. และทางรถไฟสายกรุงเทพหนองคาย 445 กม.
อาณาเขตของจังหวัด
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอกุมภวาปี อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี และอำเภอ
ภูกระดึง จังหวัดเลย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอประทาย อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าคันโท อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอเชียงยืน อำเภอบรบือ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอหล่มเก่า กิ่งอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์

   1.2 ขนาดจังหวัด
จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ประมาณ 13,404 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8.38 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.9 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับ 4 ของภาครองจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอุดรธานี ตามลำดับ ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 135 กม. ส่วนยาวที่สุดประมาร 135 กม. ส่วนกว้างที่แคบที่สุดประมาณ 60 กม. และส่วนยาวที่สั้นที่สุดประมาณ 110 กม.

2.ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่งไป เป็นที่ราบสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกันคล้ายเป็นลูกคลื่น พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำลงมาทางใต้ มีที่ราบลุ่มบางตอนบริเวณลำน้ำชีและลำน้ำพอง ทางตอนเหนือของจังหวัดได้แก่ พื้นที่บริเวณอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอหนองเรือ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอน้ำพอง และอำเภอภูเขียว เหมาะแก่การทำนา ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังและดินร่วนปนทราย ซึ่งเก็บความชื้นได้ไม่มากนัก มีความสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ส่วนบริเวณตอนเหนือของจังหวัดในพื้นที่อำเภอชมพู อำเภอหนองเรือ และอำเภอน้ำพอง อำเภอเมืองขอนแก่น (ตอนบน) มีความอุดมสมบูรณ์สูงประกอบกับอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำคือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทดน้ำหนองหวาย หรือเขื่อนน้ำพอง และมีคลองส่งน้ำผ่ายพื้นที่ดังกล่าวจึงทำให้มีผลผลิตสูงได้ผลดีกว่าในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัด สำหรับบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรม ได้แก่ บริเวณพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดในเขตอำเภอพล อำเภอหนองสองห้อง อำเภอชนบท ซึ่งต้องดำเนินการหาทางช่วยเหลือด้านการปรับสภาพดิน หรือพัฒนาด้านอื่น ๆ ทดแทนต่อไป
นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังประสบปัญหาในด้านสภาพดินเค็ม อันเนื่องมาจากลักษณะทางธรณีวิทยา โดยที่ใต้ดินลงไปมีชั้นของเกลือสะสมอยู่ในรูปของหินเกลือ เมื่อมีน้ำไหลผ่านจะละลายเอาเกลือปนขึ้นมากับน้ำ เมื่อระเหยไปจึงมีคราบเกลืออยู่บนผิวดิน ทำให้มีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะทำการเพาะปลูก

3. ภูมิศาสตร์จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ตั้งอยู่กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้โดยสะดวกประกอบกับรัฐบาลสมัย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐ-มนตรี มีนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น โดยมีนโยบายและแนวทางการพัฒนาจัดให้มีจังหวัดศูนย์กลางการพัฒนามุ่งหมายให้จังหวัดศูนย์กลางเป็นที่รวมของงานบำรุง งานส่งเสริมต่าง ๆ ของรัฐบาลเมื่อจังหวัดศูนย์กลางเจริญก้าวหน้าและขยายตัวไป ย่อมทำให้เกิดความเจริญและเผยแพร่ไปยังท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงด้วย นับเป็นการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลยิ่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าวทางรัฐบาลได้คัดเลือกที่จะพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นจังหวัดศูนย์กลางแห่งแรก